9/09/2555

อาเซียนจะไปถึงฝั่งฝันพลังงานทดแทน...หรือเป็นเพียงแค่ฝันกลางวัน



นับเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้วที่การใช้พลังงานและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียเติบโตควบคู่กัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ยอดการใช้พลังงานในช่วงปี พ.ศ. 2538 ถึง 2550 เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทั้งนี้ รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานอาเซียน หรือ (ASEAN Energy Outlook) ฉบับที่ 3 ได้คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (Total Final Energy Consumption) ในช่วงปี พ.ศ. 2550 ถึง 2573 ว่า จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี หรือ จาก 375 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (MTOE) เป็น 1,018 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในกรณีที่ธุรกิจดำเนินไปตามปกติโดยไม่มีมาตรการอนุรักษ์พลังงาน (Business-as-usual: BAU) และอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีในช่วงปีเดียวกันนี้ จะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี หรือเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ต่อปี ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2573 จะอยู่ที่ 843 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในกรณีที่ธุรกิจดำเนินไปตามมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอาเซียนไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณสูง กอปรกับภูมิภาคอาเซียนได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก จึงต้องอาศัยพลังงานจำนวนมากเพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรมุ่งความสนใจไปยังการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิง ซึ่งนับเป็นความท้าทายด้านนโยบายสำหรับรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน

จะว่าไปแล้วภูมิภาคอาเซียนมีแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ตลอดจนแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์มากนัก นอกจากนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน เป็นประเทศผู้ส่งออกนำมันดิบในภูมิภาค แต่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ยังคงต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันดิบในสัดส่วนที่สูง ส่วนในเรื่องของพลังงานทดแทน ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีการส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด อย่างจริงจัง เนื่องจากยังขาดเทคโนโลยีและเงินทุนสนับสนุน

จากข้อมูลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อได้เปรียบด้านพลังงานที่ต่างกัน กล่าวคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนได้มากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก โดยสามารถผลิตกระไฟฟ้าได้ถึง 26,500 เมกะวัตต์ ทำให้หลายคนมองสปป. ลาวว่ามีศักยภาพพอที่จะกลายเป็นฐานพลังงานสำหรับภูมิภาคเซียน เพราะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ด้านอินโดนีเซียมีปริมาณสำรองของพลังงานมากที่สุดในอาเซียนและมีแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีศักยภาพสูง ทว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะบรูไน และสิงคโปร์ มีแหล่งพลังงานที่จำกัด แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศนี้นับว่ารุดหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านพลังงานและราคาน้ำมันที่ผันผวน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เร่งส่งเสริมการให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้น สังเกตได้จากการเน้นย้ำแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ เสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ตลอดจนพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ได้ออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือกเพื่อลดผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อน โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในขั้นสุดท้าย และเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น ไทย เร่งผลักดันนโยบายเกี่ยวกับพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามแผนพลังงานที่ชื่อว่า “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 10 ปี” หรือ (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2012 - 2021) ซึ่งกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 7,413 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Kilo Ton Oil Equivalent: KTOE) ในปี พ.ศ. 2555 เป็น 25,000 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในปี พ.ศ. 2564 หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมด ด้านประฟิลิปปินส์ได้กำหนดแผนพลังงานที่มีชื่อว่า (Philippine Energy Plan: PEP 2004-2013) ซึ่งเน้นการพึ่งพาตัวเองเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประเทศมาเลเซียได้กำหนดแผนการที่มีชื่อว่า (Small Renewable Energy Power Programme: SREP) ซึ่งแผนการดังกล่าวนับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

จากภาพรวมทั้งหมด น่าจะพอเดาออกว่าโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนหลายๆโครงการยังอยู่ในขั้นตอนนำร่องที่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านเงินทุนจากหน่วยงานระหว่างประเทศ และความร่วมมือจากต่างประเทศ (Donor Countries) เป็นหลัก ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ มั่นใจว่าการบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ของภูมิภาคอาเซียน ก็คงเป็นได้เพียงภาพในฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานมากให้มากขึ้น



TTF International Co.,Ltd
6th Floor, A.E.House 200/12-14, Soi Ramkhamhaeng 4
Ramkhamhaeng Rd, Suan Luang, Bangkok 10250 Thailand.
Tel : (66) 2717-2477 Fax : (66) 2717-2466
www.ttfintl.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น