9/09/2555

ความหวังพลังงานทดแทนในอีก10ปีข้างหน้า

ภาวะ "ทุกอย่างสูง" กำลังคืบคลานเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องทั้ง ค่าแรงขั้นต่ำสูง และค่าครองชีพสูง ค่าพลังงานสูง อย่างที่ทราบและตระหนักกันดีว่าประเทศไทยเราบริโภคพลังงานค่อนข้างจะเกินตัวเอามากๆทีเดียว

และที่สำคัญคือต้องนำเข้ากว่า 80% ซึ่งถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยด้านพลังงานของประเทศสูงมาก เพราะเสมือนหนึ่งต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ
จากข้อมูลการนำเข้าพลังงานของประเทศในปี 2554 มีดังต่อไปนี้ครับ นำเข้าไฟฟ้ามูลค่า 12,000 ล้านบาท นำเข้าถ่านหินมูลค่า 40,000 ล้านบาท นำเข้าก๊าซธรรมชาติมูลค่า 136,000 ล้านบาท นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมูลค่า 10,000 ล้านบาท และนำเข้าน้ำมันดิบมูลค่า 927,000 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จมีมูลค่าการนำเข้าพลังงานทั้งสิ้นในรอบปี 1,1225,000 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวสามารถกล่าวได้ว่าความปลอดภัยด้านพลังงานของประเทศคงต้องฝากไว้กับพวกเราละครับว่า จะลดการใช้พลังงานนำเข้าได้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญที่สุดคือเราสามารถหาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน ที่สามารถผลิตจากภายในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาจากภูมิปัญญาไทย เพราะพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนบางชนิดต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอาจไม่แตกต่างกัน แต่ราคาขายในท้องตลาดของแต่ละประเทศ จะเป็นไปตามภาวะค่าครองชีพ ซึ่งย่อมผูกไปกับรายได้ของผู้คน จึงเป็นไปได้ยากที่ประเทศเราจะประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีนำเข้าดังกล่าว
หากพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลโดยผ่านหน่ายงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลด้านพลังงานคือกระทรวงพลังงานแล้ว ก็จะพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตะหนักถึงปัญหาของพลังงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้วาดฝันในการหาพลังงานทางเลือกที่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยทำแผนการเสาะหาพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนไว้ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าดังต่อไปนี้ครับ จากพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น คลื่นในทะเล ให้ได้ประมาณ 2 เมกะวัตต์ จากความร้อนใต้พิภพประมาณ 1 เมกะวัตต์ พลังงานจากแสงอาทิตย์ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ พลังงานจากลมประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ พลังงานจากน้ำประมาณ 1,508 เมกะวัตต์ พลังงานชีวภาพที่ได้จากหลายแหล่งได้แก่ พลังงานชีวมวลประมาณ 3,630 เมกกะวัตต์ จากก๊าซชีวภาพประมาณ 500 เมกะวัตต์ จากขยะชุมชนและเมืองประมาณ 160 - 4,300 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ว่าจะต้องผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล ที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลัง จำนวน 9 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซล ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน จำนวน 5.97 ล้านลิตรต่อวัน รวมถึงการหวังที่จะผลิตเชื้อเพลิงใหม่แทนดีเซล จากสาหร่ายและสบู่ดำ ให้ได้ประมาณ 25 ล้านลิตรต่อวัน (เป็นไปได้หรือไม่ก็ช่วยวิเคราะห์ด้วยนะครับ)
ข้อมูลที่เป็นแนวคิดและทิศทางการให้ได้มาซึ่งพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนของประเทศในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564) คงเป็นไปได้หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือในการทำการดำเนินการตามแผนการอย่างจริงจัง ไม่ใช่พอน้ำมันแพงก็มาเร่งกระตุ้นกันที แต่พอน้ำมันถูกลง การสนับสนุนโครงการพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนก็ถูกละเลย และถอนการสนับสนุนการดำเนินการโครงการต่างๆอย่างสิ้นเชิง ดังเห็นตัวอย่างของการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำที่ฮือฮามากเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว และทราบว่าจะนำโครงการนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น และปาล์มน้ำมันอาจถูกต่อต้านและกีดกันทางการค้าเพราะถือว่าปาล์มน้ำมันเป็นอาหารของมวลมนุษยชาติ ที่ไม่เหมาะในการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,734 26-28 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น